ภาพรวมธุรกิจพลังงานหมุนเวียน
กว่าทศวรรษที่ผ่านมา หลายประเทศทั่วโลกได้ประกาศถึงเป้าหมายที่จะผลิตและใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในสัดส่วนร้อยละ 20-25 ของการผลิตพลังงานไฟฟ้าทั้งหมดของประเทศนั้น ซึ่งนำไปสู่การออกนโยบายการสนับสนุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน โดยเสนอรูปแบบการสนับสนุนที่คล้ายทุกประเทศ คือเสนอการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในอัตราที่สูงมาก เป็นระยะเวลา 20-25 ปี (Feed-in-Tariff Scheme หรือ FiT) เพื่อเร่งให้เกิดการศึกษาค้นคว้านำไปสู่การลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน เพื่อเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนให้เป็นไปตามเป้าหมายของแต่ละประเทศ
จากนโยบายดังกล่าว ทำให้การลงทุนในธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน สร้างผลตอบแทนการลงทุนที่เป็นที่น่าพอใจ ทำให้มีนักลงทุนจำนวนมากสนใจที่จะลงทุนในธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในแต่ละประเทศที่ประกาศนโยบาย FiT ไม่ว่าจะเป็นนักลงทุนจากในประเทศนั้น หรือนักลงทุนจากภูมิภาคอื่น
จากตัวเลขซึ่งแต่ละประเทศได้เผยแพร่ถึงจำนวนเมกะวัตต์ที่ติดตั้งเพิ่มขึ้นจากโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในปีที่ผ่านมา ทำให้เห็นได้ว่า จากเป้าหมายที่แต่ละประเทศประกาศ ยังมีความต้องการที่จะต้องก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนอีกเป็นจำนวนมากกว่า 300,000 เมกะวัตต์ทั่วโลก ในอีก 20 ปีข้างหน้า ซึ่งกว่า 230,000 เมกะวัตต์มาจากเป้าหมายของประเทศในกลุ่มอาเซียน ประเทศญี่ปุ่น และประเทศไต้หวัน
ที่มา: ศูนย์พลังงานอาเซียน ASEAN Center for Energy