วิสัยทัศน์
บริษัท เอสเอเอเอ็ม ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) (“บริษัทฯ” หรือ “SAAM”) มุ่งมั่นพัฒนาธุรกิจที่สร้างรายได้อย่างต่อเนื่องด้วยบุคลากรที่มีคุณภาพ เสริมสร้างคุณค่าองค์กรเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน บนพื้นฐานของการดำเนินธุรกิจโดยใช้การวิเคราะห์ข้อมูลบนเทคโนโลยีที่ทันสมัยเพื่อให้ทันต่อแนวโน้มและโอกาสในปัจจุบัน ภายใต้การบริหารจัดการอย่างมีจริยธรรม โปร่งใส และมีความรับผิดชอบต่อสังคม
พันธกิจ
มุ่งมั่นที่จะเป็นผู้นำด้านการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน ดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงดำเนินธุรกิจอื่น โดยมุ่งเน้นความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและสร้างผลตอบแทนที่ดีมีเสถียรภาพอย่างต่อเนื่อง ควบคู่กับการบริหารจัดการภายใต้หลักธรรมาภิบาลที่ดี เพื่อผลประโยชน์สูงสุดในระยะยาวแก่ผู้มีส่วนได้เสีย
เป้าหมายทางธุรกิจ
เป้าหมายระยะสั้น
- ให้บริการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนตามความต้องการของลูกค้าในต่างประเทศ จำนวนรวมทั้งสิ้น 60 เมกะวัตต์ ในปี 2566
- เข้าลงทุนในธุรกิจที่ไม่เกี่ยวเนื่องกับพลังงาน จำนวน 3 โครงการ ในปี 2566
- เพิ่มกำไรสุทธิในธุรกิจที่ไม่เกี่ยวเนื่องกับพลังงาน ให้เป็นสัดส่วนร้อยละ 25 ของกำไรสุทธิของบริษัทฯ ในปี 2566
เป้าหมายระยะยาว
- พัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนเพื่อจำหน่ายในต่างประเทศ จำนวนสะสมรวมทั้งสิ้น 100 เมกะวัตต์ ภายในปี 2568
- ให้บริการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนตามความต้องการของลูกค้าในต่างประเทศ จำนวนสะสมรวมทั้งสิ้น 150 เมกะวัตต์ ภายในปี 2568
- ดำเนินธุรกิจการปลูกไม้พลังงาน (Plantation) เพื่อรองรับการเติบโตของโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวลในต่างประเทศ จำนวนรวมทั้งสิ้น 1 แห่ง ภายในปี 2568
- ดำเนินธุรกิจผลิตเชื้อเพลิงชีวมวลอัดเม็ด (Wood Pellet) เพื่อรองรับการเติบโตของโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวลในต่างประเทศ จำนวนรวมทั้งสิ้น 1 แห่ง ภายในปี 2568
- เข้าลงทุนในธุรกิจที่ไม่เกี่ยวเนื่องกับพลังงาน จำนวนสะสม 10 โครงการ ภายในปี 2568
- เพิ่มกำไรสุทธิในธุรกิจที่ไม่เกี่ยวเนื่องกับพลังงาน ให้เป็นสัดส่วนร้อยละ 40 ของกำไรสุทธิของบริษัทฯ ภายในปี 2568
คำถามเกี่ยวกับบริษัท
1. กลุ่มลูกค้าเป้าหมายของบริษัทฯ คือใคร?
ในฐานะที่บริษัทฯ ดำเนินธุรกิจในด้านการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในระดับสากล บริษัทฯ จึงมีกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย 2 กลุ่มหลัก ดังนี้
- บริษัทที่ดำเนินธุรกิจพลังงาน แต่ไม่ต้องการแบกรับความเสี่ยงในขั้นตอนของการพัฒนาโครงการใหม่ และต้องการลงทุนในโครงการซึ่งผ่านการพัฒนามาแล้วในระดับหนึ่ง และ
- บริษัทที่ดำเนินธุรกิจอื่นและมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับธุรกิจพลังงานในระดับที่จำกัด ซึ่งมีความสนใจในการดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนและต้องการเข้าสู่วงการธุรกิจนี้ เนื่องจากเล็งเห็นผลตอบแทนจากการดำเนินงานที่น่าสนใจ นอกจากการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน บริษัทฯ ยังดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับพลังงานหมุนเวียน รวมถึงการพัฒนาโครงการพลังงานรูปแบบใหม่ ซึ่งดึงดูดและติดต่อใกล้ชิดกับบริษัทที่มีความชำนาญในแต่ละประเภทธุรกิจ
2. ทิศทางของการใช้พลังงานหมุนเวียนเป็นอย่างไร
พลังงานหมุนเวียนมีความสำคัญและได้รับการยอมรับเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ในฐานะแหล่งพลังงานที่ยั่งยืน ซึ่งเป็นทางเลือกในการผลิตไฟฟ้าแทนการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล (fossil fuel) จากที่เลขาธิการสหประชาชาติได้ริเริ่มโครงการ Sustainable Energy for All (SEforALL) ในปี 2554 ด้วยจุดมุ่งหมายหลักที่จะเพิ่มส่วนแบ่งพลังงานหมุนเวียนเป็นสองเท่าทั่วโลก รวมถึงการที่อย่างน้อย 67 ประเทศทั่วโลกกำหนดนโยบายเรื่องพลังงานหมุนเวียน แล้วตั้งเป้าหมายว่าจะใช้พลังงานหมุนเวียนในสัดส่วนร้อยละ 20 - 35 ภายในปี 2573 ล้วนเป็นเหตุการณ์ซึ่งแสดงเจตนารมณ์ในระดับสากล ที่จะทำให้เกิดการส่งเสริมทางพลังงานหมุนเวียนอย่างต่อเนื่องในทั้งระยะสั้นและระยะยาว
จากกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนทั่วโลกรวม 2,351 กิกะวัตต์ในปี 2561 การผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในภูมิภาคเอเชียมีสัดส่วนร้อยละ 43.54 รองลงมาคือยุโรปที่ร้อยละ 22.82 และอเมริกาเหนือที่ร้อยละ 15.59 ในขณะที่ทั้งสามภูมิภาคนี้ผลิตไฟฟ้ากว่าร้อยละ 80 ของกำลังการผิตทั่วโลก ประเทศจีนเพียงประเทศเดียวสามารถผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 29.60 ของโลก และร้อยละ 67.99 ของภูมิภาคเอเชีย โดยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ย (CAGR) ในปี 2558 - 2561 อยู่ที่ร้อยละ 13.25 จากข้อมูลทางสถิติขององค์การพลังงานหมุนเวียนระหว่างประเทศ (IRENA) ซึ่งนักวิเคราะห์ทั่วโลกมองว่าประเทศจีนจะยังคงเป็น 1 ในผู้นำในด้านการเติบโตของพลังงานหมุนเวียนต่อไปในอนาคต
แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP) และแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) ของประเทศไทย ซึ่งมีการปรับปรุงล่าสุด กำหนดให้ร้อยละ 30 ของการผลิตพลังงานในปี 2580 มาจากพลังงานหมุนเวียน ซึ่งเพิ่มโอกาสต่อไปในการดำเนินการในด้านดังกล่าว
นอกจากนี้ หลายๆ บริษัทและธุรกิจได้เริ่มที่จะสำรวจการใช้ประโยชน์จากอาคารหรือโรงงานเพื่อติดตั้งแผงโซลาร์บนหลังคาหรือในพื้นที่ว่างอื่นๆ ในรูปแบบของสัญญาการซื้อขายไฟฟ้าเอกชน (Private PPA) เพื่อลดค่าไฟฟ้า ในทำนองเดียวกัน บ้านเรือนเริ่มที่จะตระหนักถึงโอกาสในการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้าน ดังนั้น พลังงานหมุนเวียนจะเติบโตอย่างเนื่องและมีแนวโน้มสูงขึ้นในแง่ของการลงทุน การผลิต และการใช้สอยต่อไปในอนาคต
3. มีปัจจัยทางเทคนิคและปัจจัยมนุษย์ซึ่งจำกัดการใช้พลังงานพลังงานหมุนเวียนหรือไม่
ข้อจำกัดในการใช้พลังงานหมุนเวียนโดยหลักจะเป็นในรูปแบบของการดำเนินการโดยรายย่อยหรือบุคคลที่มีข้อจำกัดในการเข้าถึงข้อมูล เนื่องจากธุรกิจพลังงานหมุนเวียนต้องอาศัยความเชี่ยวชาญด้านเทคนิค บุคคลทั่วไปที่ต้องการจะติดตั้งแผงโซลาร์ที่บ้านของตนเอง อาจตัดสินใจไม่ดำเนินการต่อเนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับแผงวงจรไฟฟ้า การบำรุงรักษา และการกักเก็บพลังงาน
อย่างไรก็ตาม ระดับธุรกิจในประเทศที่มีการดำเนินการช้า เมื่อรัฐบาลออกกฎหมายหรือกฏระเบียบที่สนับสนุนโอกาสทางธุรกิจดังกล่าว ผู้ที่มีประสบการณ์จะเข้ามายังตลาด และส่งเสริมการแบ่งปันองค์ความรู้ให้แก่บริษัทท้องถิ่นซึ่งไม่มีช่องทางในการเข้าถึงในตอนแรก
ในกรณีดังกล่าว ปัจจัยทางเทคนิคและปัจจัยมนุษย์ไม่เป็นข้อจำกัดในการใช้พลังงานหมุนเวียน
4. กฎหมายมีผลต่อธุรกิจของคุณอย่างไร มีการจำกัดว่าสามารถขายไฟฟ้าให้กลุ่มใดหรือไม่ และมีภาษีพิเศษที่ต้องจ่ายชำระหรือไม่
สำหรับหลายๆ ประเทศ รวมถึงประเทศไทย ซึ่งมีการออกนโยบายสนับสนุนพลังงานหมุนเวียน กฎหมายและกฎระเบียบที่บังคับใช้มุ่งเน้นการกระตุ้นให้เกิดการลงทุนในโครงการพลังงานหมุนเวียนอย่างครอบคลุม
หนี่งในรูปแบบของมาตรการสนับสนุนคือ มาตรการส่งเสริมการรับซื้อไฟฟ้า (FiT) โดยเสนอราคารับซื้อไฟฟ้าในอัตราที่สูง เป็นระยะเวลา 20 - 25 ปี สำหรับการผลิตไฟฟ้าในแต่ละรูปแบบของโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนที่จำหน่ายไฟให้กับหน่วยงานการไฟฟ้าของแต่ละประเทศ รวมถึงการอัตราภาษีพิเศษสำหรับรายได้ที่เกิดจากธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับพลังงานหมุนเวียนตามที่ระบุ
มาตรการดังกล่าวทำให้เกิดโอกาสในการสร้างผลตอบแทนที่ดึงดูด และทำให้เกิดกระแสการลงทุนในธุรกิจพลังงานหมุนเวียน
5. พลังงานหมุนเวียนในประเทศไทยเป็นอย่างไรเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่น
จากกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนทั่วโลกรวม 2,351 กิกะวัตต์ในปี 2561 ประเทศไทยถูกจัดลำดับอยู่ใน 30 ประเทศแรก โดยสามารถมีกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่ 10.41 กิกะวัตต์ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 0.44 ของกำลังการผลิตโลก และจากข้อมูลทางสถิติขององค์การพลังงานหมุนเวียนระหว่างประเทศ (IRENA) ประเทศไทยมีกำลังการผลิตติดตั้งเป็นสัดส่วนร้อยละ 1.11 ของกำลังการผลิตในภูมิภาคเอเชีย ที่มีกำลังการผลิตรวม 1,024 กิกะวัตต์ รวมถึงผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนได้ในสัดส่วนร้อยละ 1.61 ของภูมิภาค ซึ่งผลิตไฟฟ้ารวม 2,644 เทระวัตต์ชั่วโมง
แม้ว่าสัดส่วนของกำลังการผลิตไฟฟ้าและการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ชี้ให้เห็นว่าประเทศไทยอาจเป็นเพียงส่วนเล็กๆ ในเวทีระดับโลก ถึงแม้ประเทศไทยจะมีขนาดและจำนวนประชากรไม่มาก แต่นับว่าเป็นหนึ่งในผู้นำในภูมิภาคเอเชียด้านการพัฒนาและนำนโยบายเกี่ยวกับพลังงานหมุนเวียนมาถือปฏิบัติ รวมถึงด้านการลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนอีกด้วย